วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา

ความสำคัญ
วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆบูชา; อักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
  ๑.พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
  ๒.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
  ๓.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ
  ๔.วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
                                จาตุรงคสันนิบาต
กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง 4 คือ คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์) คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์) คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์) และคณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ 250 องค์) รวมนับจำนวนได้ 1,250 รูป (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)
                                
ประทานโอวาทปาฏิโมกข์
                พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
  ๑.พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
  ๒.พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น

  ๓.ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น